เครื่องชั่งถือว่าเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ทุกห้องปฏิบัติการมีใช้งาน ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในการใช้งานเครื่องชั่งอย่างถูกต้องตรงตามคู่มือเครื่องชั่งที่ระบุไว้ รวมทั้งจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลกระทบ ต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องชั่ง และวิธีการตรวจสอบการทำงานของเครื่องชั่งให้เป็นไปตามข้อกำหนดการใช้งานเพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้อง อีกทั้งต้องมีการประเมินการทำงานของเครื่องชั่งว่ายังให้ผลการอ่านค่าที่ถูกต้อง
บทความนี้เราได้รวบรวมข้อมูลการใช้งานเครื่องชั่งระบบไฟฟ้า ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องชั่ง การตรวจสอบการทำงานของเครื่องชั่ง การควบคุมคุณภาพการทำงานของเครื่องชั่ง และข้อควรระวังในการใช้งานเครื่องชั่ง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทดสอบ นำไปใช้เป็นแนวทางในการใช้งานเครื่องชั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องตามระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025: 2005
promotion ล่าสุด
ความสำคัญของเครื่องชั่งไฟฟ้า
เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่มีใช้ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ใช้สำหรับชั่งสารเคมี หรือสิ่งที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้การตรวจวิเคราะห์เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด
เครื่องชั่งจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ต่อการทดสอบและสอบเทียบ เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อผลการตรวจวิเคราะห์
โดยเครื่องชั่งนั้น มีหลายประเภท หลายรูปแบบ หากจำแนกตามระบบการทำงาน สามารถแบ่งเครื่องชั่งเป็นดังนี้
- เครื่องชั่งระบบกล
- เครื่องชั่งระบบไฟฟ้า
ซึ่งเครื่องชั่งระบบกล ใช้หลักการเปรียบเทียบค่าน้ำหนัก ของสิ่งที่ต้องการทราบน้ำหนัก กับน้ำหนักมาตรฐาน โดยอาศัยการสมดุลของคาน เครื่องชั่งประเภทนี้ได้แก่
- เครื่องชั่งสองแขน
- เครื่องชั่งจานเดียว
- เครื่องชั่งสปริง
ซึ่งเครื่องชั่งประเภทนี้ จะมีการอ่านค่าความละเอียดได้น้อยกว่าเครื่องชั่งไฟฟ้า จึงไม่นิยมนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์
ดังนั้นผู้ใช้งานเครื่องชั่ง จึงต้องทราบวัตถุประสงค์ในการใช้เครื่องชั่ง ว่าต้องการใช้งานเครื่องชั่งที่มีคุณลักษณะอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับงาน เช่น ค่าความละเอียด ความแม่น (Accuracy) และความเที่ยง (Precision) ในระดับใด เพื่อให้สามารถเลือกใช้เครื่องชั่งที่เหมาะสมกับความต้องการ
เครื่องชั่งระบบไฟฟ้า เป็นเครื่องชั่งที่นิยมนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบและสอบเทียบ เนื่องจากมีการใช้งานง่าย สะดวก ให้ ค่าความละเอียด ความแม่น และความเที่ยง ได้ดีกว่าเครื่องชั่งระบบกล โดยเครื่องชั่งระบบนี้มีการพัฒนาให้มีการใช้กระแสไฟฟ้าทำงานร่วมกับระบบอื่นๆ เช่น ระบบอิเลกทรอนิกส์ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า ได้แก่
1. เครื่องชั่งไฟฟ้าระบบอิเลกทรอนิกส์ อาศัยหลักการเปลี่ยนแปลงค่าความต้านทาน ของตัวนำไฟฟ้าที่เรียกว่า Strain Gauge จำนวน 4 ชิ้น ติดอยู่กับส่วนรับน้ำหนักที่ฐานเครื่องชั่งซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้ เมื่อไม่มีวัตถุบนจานชั่ง Strain Gauge ทั้ง 4 ตัวจะมีค่าความต้านทานไฟฟ้าเท่ากันทุกตัว ทำให้ค่าความต่างศักย์ไฟฟ้า มีค่าเป็น 0
เมื่อวางวัตถุบนจานชั่ง Strain Gauge ทั้ง 4 ตัวจะถูกเชื่อมต่อกันเป็นวงจรไฟฟ้า แรงกดของวัตถุบนจานชั่ง จะทำให้ส่วนรับน้ำหนักที่ฐานเครื่องชั่งและ Strain Gauge ทั้ง 4 ตัว มีการยืด หดไม่เท่ากัน ทำให้มีความต่างศักย์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นระหว่าง Strain Gauge ทั้ง 4 ตัว อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ภายในเครื่องชั่ง จะทำการแปลงค่าความต่างศักย์ไฟฟ้าให้เป็นตัวเลข แสดงเป็นค่าน้ำหนักวัตถุบนหน้าจอเครื่องชั่ง รวมทั้งเครื่องชั่งไฟฟ้าระบบอิเลกทรอนิกส์ มักเป็นเครื่องชั่งที่สามารถอ่านค่าน้ำหนักความละเอียดได้จุดทศนิยม 1 ตำแหน่ง 2 ตำแหน่งหรือ 3 ตำแหน่ง
เครื่องชั่งทศนิยม 1 ตำแหน่ง
เครื่องชั่งทศนิยม 1 ตำแหน่ง
เครื่องชั่งทศนิยม 2 ตำแหน่ง
2. เครื่องชั่งไฟฟ้าระบบแม่เหล็กไฟฟ้า หลักการทำงานของเครื่องชั่งประเภทนี้คือ ขดลวดตัวนำที่ติดอยู่ใต้จานชั่งจะวางอยู่ในตำแหน่ง ที่มีสนามแม่เหล็กภายในเครื่องชั่ง เมื่อไม่มีวัตถุอยู่บนจานชั่ง จานชั่งจะอยู่ในลักษณะสมดุล แต่เมื่อวางวัตถุบนจานชั่ง ระบบไฟฟ้าภายในเครื่องชั่งจะจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านขดลวดตัวนำใต้จานชั่ง ทำให้เกิดแรงแม่เหล็กไฟฟ้าต้านการเลื่อนต่ำลงของจานชั่ง เพื่อให้จานชั่งอยู่ในลักษณะสมดุล
ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทำให้จานชั่งอยู่ในลักษณะสมดุล จะถูกแปลงให้เป็นค่าความต่างศักย์ไฟฟ้าและแสดงค่าเป็นตัวเลข ที่เป็นค่าน้ำหนักของวัตถุบนหน้าจอเครื่องชั่ง เครื่องชั่งไฟฟ้าระบบแม่เหล็กไฟฟ้า มักพบในเครื่องชั่งที่สามารถอ่านค่าน้ำหนักความละเอียดได้จุดทศนิยม 4 ตำแหน่งและ 5 ตำแหน่ง
เครื่องชั่งทศนิยม 4 ตำแหน่ง
เครื่องชั่งทศนิยม 4 ตำแหน่ง
แนะนำให้อ่าน บทความ เครื่องชั่งน้ำหนัก หนึ่งในเครื่องมือสำคัญต่อภาคธุรกิจ เพิ่มเติม
ส่วนประกอบของเครื่องชั่งไฟฟ้า
- ฐานเครื่องชั่ง (Balance Main Body) ภายในบรรจุอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์แม่เหล็ก ตุ้มน้ำหนักและอุปกรณ์สำหรับเปรียบเทียบน้ำหนัก
- กล่องครอบจานชั่ง (Weight Chamber) อาจทำด้วยกระจกใส หรือพลาสติกใสครอบจานชั่ง เพื่อป้องกันลม ทำให้น้ำหนักที่ชั่งได้คงที่ มักใช้กับเครื่องชั่งที่อ่านค่าความละเอียดทศนิยม 3 ตำแหน่งขึ้นไป
- ประตูสำหรับ ปิด-เปิด (Door) เครื่องชั่งที่มีกล่องครอบจานชั่งจะมีประตูที่สามารถเปิดได้ 2 หรือ 3 ด้าน คือด้านซ้าย ด้านขวา หรือด้านบน ส่วนด้านหน้าจะไม่มีประตู เพื่อป้องกันการชั่งตัวอย่างผ่าน ด้านหน้า ซึ่งอาจทำให้ตัวอย่างหกใส่หน้าจอแสดงผลและปุ่มป้อนข้อมูล
- จานชั่ง (Pan) สำหรับวางสิ่งที่ต้องการชั่งน้ำหนัก โดยทั่วไปจะไม่วางสิ่งที่ต้องการชั่งบนจานชั่งโดยตรง แต่จะวางในภาชนะรองรับก่อน
- วงแหวนป้องกันจานชั่ง (Anti Draft Ring) ใช้ป้องกันการเลื่อนตัวของจานชั่ง
- หน้าจอแสดงผลการชั่ง (Display Panel) แสดงค่าน้ำหนักของวัตถุที่ชั่งเป็นตัวเลข
- ตัวชี้บอกระดับ (Level Indicator) ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นฟองอากาศ ที่ขังอยู่ในน้ำที่ครอบแก้วไว้สร้างขึ้นมา เพื่อเป็นตัวชี้บอกการตั้งตรงของเครื่องชั่ง ถ้าฟองอากาศอยู่ตรงกลางครอบแก้ว แสดงว่าเครื่องชั่งตั้งตรง ถ้าฟองอากาศไม่อยู่ตรงกลางครอบแก้วแสดงว่าเครื่องชั่งตั้งเอียงอยู่ เราสามารถปรับเครื่องชั่งให้ตั้งตรงได้โดยการหมุนปุ่มปรับระดับที่ขาเครื่องชั่ง
- ปุ่มปรับระดับ (Level Screw) ใช้ปรับระดับเครื่องชั่งให้ตั้งตรง โดยสังเกตจากระดับฟองอากาศ ซึ่งใช้เป็นตัวชี้บอกระดับ หรือที่เรียกว่า ลูกน้ำ ที่ตัวเครื่องชั่งให้อยู่ตรงกลาง
- แผ่นป้าย (Label) ระบุรายละเอียดของข้อมูลที่จำเป็นของเครื่องชั่ง เช่น ความสามารถในการอ่านค่าความละเอียดของน้ำหนัก
ดูสินค้าโปรโมชั่นและสินค้าขายดีที่นี้เลย เครื่องชั่งดิจิตอล
การเลือกเครื่องชั่งไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน
สามารถพิจารณาจากเกณฑ์การยอมรับได้ของเครื่องชั่ง ดังนี้
1. น้ำหนักสูงสุดที่เครื่องชั่งสามารถชั่งได้ (Maximum Capacity) ต้องสามารถรองรับน้ำหนักที่ต้องการชั่งได้ โดยไม่ควรชั่งสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่าค่า Maximum Capacity ของเครื่องชั่ง เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหาย ต่อระบบการทำงานภายในของเครื่องชั่งได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงน้ำหนักภาชนะที่ใส่ด้วย
ค่าน้ำหนักรวมที่ชั่งไม่ควร เกิน 95 % ของน้ำหนักสูงสุดที่เครื่องชั่งสามารถชั่งได้ เพราะจะทำให้ค่าน้ำหนักที่อ่านได้มีความถูกต้องน้อยลง เช่น เครื่องชั่งที่ระบุค่าน้ำหนักสูงสุดที่สามารถชั่งได้ 100 กรัมไม่ควรชั่งน้ำหนักเกิน 90 กรัม เป็นต้น
2. ค่าความละเอียดของเครื่องชั่ง (Resolution) ดูจากค่าตำแหน่งทศนิยมของเครื่องชั่ง ซึ่งควรเลือกใช้งานเครื่องชั่งที่มีค่าความละเอียดของเครื่องชั่ง ไม่น้อยกว่าค่าความละเอียดของน้ำหนักที่ต้องการชั่ง
3. ความคลาดเคลื่อนของเครื่องชั่ง ต้องมีค่าไม่เกินค่าความผิดพลาดสูงสุด ที่ยอมรับได้ของน้ำหนักที่จะชั่ง (Maximum permissible error)
สภาวะแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องชั่ง
เครื่องชั่งควรตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้ผลการชั่งที่ได้มีความถูกต้องมากที่สุด โดยพิจารณาจาก
1. สถานที่ตั้งเครื่องชั่ง ควรเป็นห้องที่มีลักษณะดังนี้
- เป็นห้องขนาดเล็ก มีประตูเข้า – ออก ด้านเดียว และควรเป็นประตูที่ ปิด – เปิด โดยเลื่อนด้านข้าง มีหน้าต่างในห้องน้อยที่สุด ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรมีหน้าต่างเลย เพื่อให้สามารถควบคุมกระแสลม อุณหภูมิความดันอากาศและ ความชื้น ในสภาวะที่เหมาะสมตามที่กำหนดในคุณสมบัติของเครื่องชั่ง
- ควรเป็นห้องที่อยู่ด้านล่างของอาคาร อยู่ห่างจากถนน ห่างจากการทำงานของเครื่องจักรที่ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือน หรือห่างจากบริเวณที่มีผู้คนเดินผ่านตลอดเวลา บริเวณที่เหมาะสมในการตั้งเครื่องชั่งควรจะอยู่บริเวณมุมห้อง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผลต่อการสั่นสะเทือนน้อยที่สุด
- ไม่ควรปูพรมภายในห้องตั้งเครื่องชั่ง เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละออง ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องชั่ง
- ไม่ควรวางเครื่องชั่งไว้ใกล้ประตูหรือหน้าต่าง หรือวางในแนวทิศทางลมของเครื่องปรับอากาศเพื่อหลีกเลี่ยงกระแสลม
- ไม่ควรวางเครื่องชั่งบริเวณที่แสงแดดส่องถึง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้สามารถป้องกันโดยหา ผ้าม่านหรือกระดาษแข็ง มาปิดกั้นบริเวณที่แสงแดดส่องถึง
- ไม่ควรวางเครื่องชั่งไว้ใกล้กับเครื่องมือ ที่เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน หรือเครื่องมือที่มีพัดลมระบายอากาศอยู่ภายในเครื่อง เช่น ตู้อบ เครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องชั่ง
2. อุณหภูมิ
ห้องตั้งเครื่องชั่ง ควรมีการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ เพื่อให้เครื่องชั่งสามารถอ่านค่าน้ำหนักได้อย่างถูกต้อง โดยทั่วไปมักกำหนดอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องชั่งในช่วง 10 – 30 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิห้องที่เปลี่ยนไป จากอุณหภูมิที่ปรับตั้งจะส่งผลต่อความถูกต้องในการอ่านค่าของเครื่องชั่ง และความไวต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักที่อ่านได้
อุณหภูมิห้องเครื่องชั่งไม่คงที่ เช่น ห้องมีแสงแดดส่องถึง หรือ มีเครื่องมือที่มีแหล่งกำเนิดความร้อน ได้แก่ ตู้อบ จะส่งผลให้การแสดงค่าน้ำหนักของเครื่องชั่งผิดพลาดไป
3. ความชื้นสัมพัทธ์
ความชื้นภายในห้องเครื่องชั่งก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่มีผลต่อน้ำหนักที่ชั่งได้ ดังนั้นจึงต้องควบคุมความชื้นในห้องเครื่องชั่งให้เหมาะสมและคงที่ ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับห้องเครื่องชั่งจะอยู่ในช่วง 45 – 60 % หากความชื้นสัมพัทธ์น้อยกว่า 45 % จะทำให้อากาศแห้งเกินไป จนเกิดไฟฟ้าสถิตระหว่างเครื่องชั่งและภาชนะที่ใส่ตัวอย่างหรือกับตัวอย่างเอง ซึ่งแรงไฟฟ้าสถิตจะสามารถเกิดแรงดูด หรือแรงผลักกับอุปกรณ์ที่อยู่ภายในตัวเครื่องชั่ง
ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดพลาดของน้ำหนักที่ชั่งได้ แต่ถ้าอากาศในห้องเครื่องชั่งมีค่าความชื้นสัมพัทธ์เกิน 60 % จะทำให้น้ำหนักของสิ่งที่ชั่งได้มีน้ำหนักเกินจริง ทั้งนี้อาจต้องจัดหาเครื่องกำจัดความชื้นมาใช้เพื่อช่วยกำจัดความชื้นภายในห้อง หรือควรจัดหาเครื่องวัดความชื้นสำหรับวัดปริมาณความชื้นในห้องเครื่องชั่ง
4. โต๊ะวางเครื่องชั่ง
โต๊ะที่นำมาใช้วางเครื่องชั่ง ส่วนใหญ่มักทำด้วยหิน มีความหนาไม่น้อยกว่า 40 มิลลิเมตร มีผิวหน้าเรียบ แข็งแรง มั่นคง ไม่ยุบตัวง่าย ไม่ควรใช้โต๊ะที่ทำด้วยเหล็ก หรือคอนกรีตเสริมเหล็กมาใช้วางเครื่องชั่ง เนื่องจาก อาจมี ผลกระทบต่ออำนาจสนามแม่เหล็กที่อยู่ภายในเครื่องชั่ง ทำให้การอ่านค่าของการชั่งน้ำหนักผิดพลาดได้ โต๊ะวางเครื่องชั่งไม่ควรวางอยู่ติดกับผนังห้อง เพราะอาจทำให้เกิดการสั่นสะเทือน จากผนังห้องส่งมายังเครื่องชั่งได้ง่ายขึ้น
กลับสู่สารบัญการดูแลเครื่องชั่งไฟฟ้า
- ผู้รับผิดชอบดูแลเครื่องชั่ง ตรวจสอบสภาพเครื่องชั่งว่าส่วนประกอบต่างๆ มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน เช่น ประตูเครื่องชั่งปิดสนิททุกครั้ง จานชั่งสะอาด ไม่มีรอยเปรอะเปื้อนเศษหรือคราบตัวอย่าง
- ตรวจสอบการตั้งตรงของเครื่องชั่ง โดยสังเกตจากระดับลูกน้ำที่ติดอยู่ที่เครื่องชั่งต้องอยู่ตรงกลาง หากไม่อยู่ตรงกลางแสดงว่าเครื่องชั่งไม่อยู่ในสภาพตั้งตรง ให้ปรับระดับโดยหมุนที่ปุ่มปรับระดับซึ่งมักจะอยู่ที่ขาเครื่องชั่ง
- เปิดเครื่องชั่งก่อนใช้งานเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาทีหรือตามเวลาที่กำหนดตามคู่มือเครื่อง เพื่อให้เครื่องชั่งอยู่ในสภาพพร้อมทำงาน
- ชั่งน้ำหนักสิ่งที่ต้องการ โดยวางให้อยู่ตรงกลางจานชั่ง เพื่อลดความผิดพลาดในการอ่านค่า
- หลังใช้งานเครื่องชั่งเสร็จแล้ว ปรับเครื่องชั่งให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่นการปรับ 0 และการทำความสะอาดเครื่องชั่งหลังการใช้งานแต่ละครั้ง
- ผู้รับผิดชอบเครื่องชั่งต้องตรวจเครื่องชั่งให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย กดปุ่ม Standby เมื่อไม่มีผู้ใช้งานเครื่องชั่งแล้ว
ข้อควรระวังในการใช้งานเครื่องชั่งไฟฟ้า
- สภาวะแวดล้อมภายในห้องเครื่องชั่ง เช่น อุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ที่ไม่คงที่จะทำให้น้ำหนักที่ชั่งได้ผิดพลาดไป ดังนั้นผู้ดูแลเครื่องชั่งจึงต้องควบคุมอุณหภูมิความชื้นของห้องเครื่องชั่ง โดยการจัดหาเครื่องมือวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ สำหรับอ่านค่าอุณหภูมิห้อง และค่าความชื้นสัมพัทธ์ในช่วงเวลาต่างๆในแต่ละวัน และจดบันทึกอุณหภูมิลงในแบบบันทึก เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิห้องเครื่องชั่ง
- การวางเครื่องชั่งไว้ใกล้เคียงกับเครื่องมือที่ทำให้เกิดความร้อน ความชื้น เช่น อ่างควบคุมอุณหภูมิหรือเครื่องมือที่ใช้ระบบการเหนี่ยวนำไฟฟ้า เช่น ตู้อบ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของเครื่องชั่ง
- การชั่งตัวอย่างไม่ควรใช้มือจับภาชนะใส่ตัวอย่างโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อน หรืออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงได้ ควรใส่ถุงมือผ้าหรือใช้ที่จับ และควรวางสิ่งที่ต้องการชั่งบริเวณกลางจานชั่ง เพื่อป้องกันการอ่านค่าน้ำหนักผิดพลาดไป
- การทำความสะอาดเครื่องชั่งและจานชั่ง สามารถใช้แปรงปัด หรือผ้าเช็ด หากมีรอยเปื้อนเป็นคราบอาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ หรือชุบสารละลาย 50% เอทานอล เช็ดด้านบนของจานชั่ง สำหรับด้านล่างจานชั่งให้ใช้ลมเป่าสิ่งสกปรกหรือฝุ่น ผงที่อยู่ใต้จานชั่ง
- ก่อนทำการปรับตั้งเครื่องชั่ง ต้องปรับระดับให้เครื่องชั่งตั้งตรงและแสดงหน้าจอเป็นศูนย์ (Zero reading) ก่อนเสมอ
ปัญหาและสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานเครื่องชั่งไฟฟ้า
ปรับศูนย์ด้วยปุ่มปรับศูนย์ไม่ได้ – เครื่องชั่งเอียง
- จานชั่งมีน้ำหนักผิดพลาด
- กลไกปรับมุมกระจกสะท้อนแสงขัดข้อง
ตัวเลขที่จออ่านค่าไม่ชัด – เครื่องชั่งเอียง
- จานชั่งเอียงเพราะวางวัตถุไม่อยู่ตรงกลางจานชั่ง
- เลนส์รวมแสงเคลื่อนที่
ค่าที่ชั่งไม่ถูกต้อง – วัตถุที่นำมาชั่งสกปรก
- มีแรงกระทำจากภายนอก
- ใช้เครื่องชั่งไม่ถูกต้อง
- ตุ้มน้ำหนักมาตรฐานไม่ถูกต้อง
- สเกลอ่านค่าไม่ถูกต้อง
- เครื่องชั่งเอียง
ตัวเลขไม่นิ่ง
- มีแรงสั่นสะเทือน หรือมีกระแสลมมาก
- วงจรอิเลกทรอนิกส์ขัดข้อง
- กระแสไฟฟ้าไม่คงที่
- อุณหภูมิไม่คงที่
ความไวลดลง
- คมมีดเสียหาย หรือสกปรก
- เครื่องชั่งเอียง
- ระบบทางเดินแสงคลาดเคลื่อน
สรุปทิ้งท้าย
เครื่องชั่งถือว่าเป็นเครื่องมือ ที่มีความสําคัญต่อการตรวจวิเคราะห์ ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เพราะจําเป็นต้องใช้ในการชั่งสารตัวอย่างต่างๆ ถ้าเกิดความผิดพลาดตั้งแต่ขั้นตอนการชั่งสาร ย่อมส่งผลต่อความผิดพลาด ในขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์ขั้นต่อๆ ไป
ดูสินค้าโปรโมชั่นและสินค้าขายดีที่นี้เลย เครื่องชั่งดิจิตอล